อบรมการทำบุหงาซีเร๊ะ (พานหมากพลู)

อุทยานการเรียนรู้ยะลาร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น กับการอบรมการทำบุหงาซีเร๊ะ (พานหมากพลู)

          เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางอุทยานการเรียนรู้ยะลาได้เชิญชวนผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมอบรมการทำบุหงาซีเร๊ะ หรือ พานบายศรี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ให้คงอยู่

          การอบรมการทำบุหงาซีเร๊ะ หรือ พานบายศรีได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป รวมถึงครูในพื้นที่จังหวัดยะลาเข้าร่วมรับการอบรม จากคำบอกเล่าของคุณครูจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา บอกว่าแต่เดิมทำพานหมากพลูไม่เป็น แต่มีความชื่นชอบ หลังจากที่ทำเป็นแล้วจะนำความรู้ไปเผยแพร่แก่นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน ทางด้านวิทยากร นายสมาน โดซอมิ ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง อ.รามัน จ.ยะลา บอกว่าบุหงาซีเร๊ะ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ยุคปัตตานีหัวเมืองภาคใต้ มีการทำใบพลู เครื่องสูงของราชสำนักปัตตานี บายศรีใบพลูจะมีความแตกต่างกัน ในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มลายูทางภาคใต้ ทางใต้ตอนบนแบบหนึ่ง ใต้ตอนล่างอีกแบบ มาเลย์อีกแบบ สามจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ถิ่นปัตตานี ยึดหลักเมืองยะหริ่ง นราธิวาสก็จะเป็นอีกแบบ ส่วนยะลายึดถือทางราชสำนักรามัน


          บุหงาซีเร๊ะ หมายถึง บายศรีประดิษฐ์แบบชาวไทยมุสลิมลักษณะหนึ่ง โดยการนำดอกไม้สด ใบพลูมาประดิษฐ์ในลักษณะต่างๆ ให้สวยงามหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบดั้งเดิมจนถึงแบบสมัยใหม่ บุหงา แปลตามภาษามลายู คือ "ดอกไม้" ซีเร๊ะ แปลตามภาษามลายู คือ "พลู" พานบายศรี บุหงาซีเร๊ะ หรือพานบายศรี เป็นการจัดพานบายศรีที่ใช้ร่วมในประเพณีสำคัญชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ เช่น งานแต่งงาน พิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (เข้าสุหนัต) พิธีสู่ขอ พิธีรับขวัญเด็ก พิธีการจัดงานมหกรรมต่างๆหรือขบวนแห่ ตามประเพณีของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้บายศรีบุหงาซีเระมาประกอบพิธีการเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลของเจ้าภาพ

          โดยวัสดุอุปกรณ์หลักของบุหงาซีเร๊ะที่จะขาดไปไม่ได้เลย ประกอบไปด้วยใบพลู มีลักษณะเด่นคล้ายรูปหัวใจนิยมกินคู่กับหมาก กระโจมไม้ไผ่ พาน  ใบไม้ที่จะนำมาใส่ในกระโจมให้แน่น ดอกไม้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกกล้วยไม้ โดยนิยมทำเป็นเลขคี่ คือ ขนาด 3 ชั้น ใช้ในโอกาสพิธีที่ไม่สำคัญมาก เช่น พิธีแต่งงาน พิธีสู่ขอ เป็นต้น, ขนาด 5 ชั้น ใช้ในพิธีที่ต้องติดตั้งอยู่กับที่ เช่น ขบวนรถแห่ เพราะมีขนาดใหญ่ หรือจัดใช้ในงานพิธีต่างๆ เพื่อเป็นมิ่งขวัญ, ขนาด 7 ชั้น ใช้ในพิธีการใหญ่โต งานมหกรรมต่างๆ และขนาด 9 ชั้น จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์


ฟิรดาวน์

เขียน พฤษภาคม 2565

 

#บุหงาซีเร๊ะ

#บายศรี

#พานหมากพลู

#สืบสานประเพณีท้องถิ่น

#อุทยานการเรียนรู้ยะลา

081-738-8593
Line Official
Facebook Messenger
Twitter
tkparkyala.or.th tkparkyala.or.th

วันเวลาเปิดให้บริการ

TKpark Yala

ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์
เวลา 09.00 - 19-30 น.

081-7388593
[email protected]

TKpark Yala @T.4

วันอังคาร - วันศุกร์
เวลา 07.30 - 19-30 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 09.00 - 19-30 น.

093-6827979
[email protected]